Wedding Info
บทความแนะนำ
พิธีจีน ตอนที่ 2 ขั้นตอนในพิธี
ประเพณีแต่งงานแบบจีน (ต่อ) ขั้นตอนปฎิบัติในพิธี
เมื่อถึงเช้าวันงาน เจ้าสาวจะสวมเอี๊ยมแดงที่มีปิ่นยู่อี่ เสียบอยู่ตรงปากกระเป๋า และมีถุงใส่ธัญพืชร 5 ชนิดและต้นชุงเฉ้า อยู่ด้านใน ตกแต่งทรงผมเสร็จแล้วก็ให้นำกิ่งทับทิมและปื่นที่เตรียมไว้มาปักที่ผมอีกที จากนั้นเจ้าสาวจะทานอาหารเช้าซึ่งเป็นอาหารมงคล 10 อย่างกับพ่อแม่พี่น้อง โดยจะมีญาติผู้ใหญ่หรือเถ้าแก่คอยคีบอาหารป้อนเจ้าสาว พร้อมทั้งกล่าวอวยพร หลังจากทานเสร็จ เจ้าสาวจะคุกเข่าคารวะพ่อแม่(บางทีก็จะคารวะตอนท้ายก่อนออกจากบ้าน) หลังจากนั้นจะรอขันหมากจากเจ้าบ่าวและรอให้มารับตัวไปทำพิธีต่อที่บ้านเจ้าบ่าวค่ะ
พิธีหมั้นและรับตัวเจ้าสาว
- เมื่อถึงฤกษ์หมั้น ฝ่ายชายยกขันหมากมาถึงบริเวณที่ทำพิธี เจ้าภาพฝ่ายหญิงจะออกไปต้อนรับ พร้อมทั้งรับมอบสินสอดทองหมั้นและเครื่องขันหมากต่างๆ พร้อมทั้งนำฝ่ายชายเข้าสู่ห้องพิธี
- จากนั้นพ่อของเจ้าสาวจะเป็นผู้จูงเจ้าสาวมาส่งเพื่อทำพิธีสวมแหวนหมั้น(บางคู่อาจไม่มีการสวมแหวนค่ะ) และแลกเปลี่ยนของหมั้น
- บ่าวสาวจะไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟ และไหว้บรรพบุรุษของเจ้าสาว
- ต่อด้วยการยกน้ำชาให้พ่อแม่ฝ่ายหญิง แต่หากอากง อาม่า ยังมีชีวิตอยู่ก็ต้องไหว้ทานก่อนยกน้ำชานะคะ
- เมื่อพิธียกน้ำชาให้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งบ่าวสาวและแขกเหรื่อผู้มาร่วมงานจะร่วมกันทาน “ขนมอี้” (ขนมบัวลอยแบบจีน) เพื่อเป็นการแสดงความยินดีและร่วมอวยพรให้ของทั้งคู่ราบรื่นค่ะ
- ถึงเวลาส่งตัวเจ้าสาวไปบ้านเจ้าบ่าว จะมีขบวนญาติๆผู้ชายพ่อของเจ้าสาวเป็นผู้ถือตะเกียง ถือเซฟและเครื่องใช้ส่วนตัวของเจ้าสาวมาส่ง โดยมักจะให้น้องชายของเจ้าสาว(หากมี) เป็นผู้ถือตะเกียงและเซฟเดินนำขบวน พ่อของเจ้าสาวจะนำใบทับทิมพรมน้ำพร้อมกล่าวอวยพรแก่เจ้าสาวก่อนจะส่งให้ขึ้นรถแต่งงานออกไป ปล.ผู้ถือตะเกียงกับเซฟจะไปบ้านเจ้าบ่าวพร้อมเจ้าสาวด้วยนะคะ
พิธียกน้ำชาบ้านเจ้าบ่าว
- เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าว ญาติผู้ชายของเจ้าสาวจะนำตะเกียงไปจุดไว้ในห้องนอนของคู่แต่งงาน ซึ่งโดยมากจะนิยมจุดไว้ 3 วัน(แนะนำให้ซื้อเป็นตะเกียงไฟฟ้านะคะ) เมื่อเสร็จแล้วญาติฝ่ายชายมักจะให้อั่งเปาแก่ผู้ถือตะเกียงเพื่อเป็นการขอบคุณ
- จากนั้นทั้งคู่จะต้องไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้เทพเจ้าเตาไฟและไหว้บรรพบุรุษของเจ้าบ่าว เช่นเดียวกับที่ทำที่บ้านเจ้าสาว เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าทั้งคู่ได้แต่งงานกันแล้วและเจ้าสาวจะย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน
- ต่อไปเป็นอีกหนึ่งพิธีสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ พิธียกน้ำชา อันเป็นการแสดงออกถึงความเคารพผู้ใหญ่ และการแต่งงานที่สมบูรณ์...เริ่มต้นที่พ่อแม่เจ้าบ่าวจะมานั่งตรงที่ทำพิธีโดยแม่เจ้าบ่าวจะนั่งทางด้านขวาของพ่อ เมื่อนั่งประจำที่เรียบร้อยแล้วบ่าวสาวจะยกถาดที่มีถ้วยชา ซึ่งรินชาเต็ม 2 ใบให้แก่พ่อแม่ ซึ่งท่านทั้งสองจะยกขึ้นจิบพอเป็นพิธี (ไม่หมดถ้วย) น้ำชาส่วนที่เหลือถือเคล็ดว่ามอบให้เป็นทุนกลับแก่ทั้งคู่
- ต่อจากยกน้ำชาคารวะพ่อแม่ ก็จะเป็นการยกน้ำชาให้ญาติผู้ใหญ่ตามลำดับอาวุโส ในตอนนี้เจ้าสาวจะมีโอกาสได้แนะนำตัวแก่ญาติๆเจ้าบ่าว
- บ่าวสาวร่วมกันทาน “ขนมอี๊” อีกครั้ง
- เมื่อถึงฤกษ์ปูเตียง ผู้ใหญ่คู่ที่มีชีวิตแต่งงานราบรื่นมักจะถูกเชิญเปปู็นผ้ปูเตียงให้ โดยเมื่อปูเสร็จจะนำส้มเขียวติดซังฮี้ไปวางไว้ที่มุมเตียงทั้ง 4 มุม และที่กลางเตียงก็จะมีถาดใส่ส้มติดซังฮี้อีก 4 ลูกพร้อมใบทับทิมวางอยู่ด้วย
ยังมีธรรมเนียมปฏิบัติหลังวันแต่งงานอยู่อีกเล็กๆน้อยๆนะคะ นั่นคือ เช้าวันรุ่งขึ้นลูกสะใภ้หมาดๆจะตื่นมาปรนนิบัติพ่อแม่สามีด้วยการยกน้ำล้างหน้าให้ท่าน(บางบ้านอาจจะปฏิบัติตามธรรมเนียมนี้ต่อไปอีก 3 – 12 วัน) หลังจากวันแต่งงาน อาจจะเป็นในวันรุ่งขึ้น วันหลังแต่งงาน 3 หรือ 7 วัน (แล้วแต่ความเชื่อ) น้องชายหรือญาติผู้ชายฝ่ายหญิงจะมารับทั้งคู่กลับไปทานข้าวที่บ้านพ่อแม่ฝ่ายหญิง โดยเจ้าสาวมักเตรียมส้ม 12 ลูกใส่ถาดติดมือกลับไปด้วย บางบ้านอาจมีการยกน้ำชาคารวะพ่อแม่ฝ่ายหญิงอีกรอบด้วยค่ะ
สุดท้ายแล้วต้องขอบอกด้วยว่า พิธีจีนนั้นอาจมีความแตกต่างกันไปบ้างนะคะ เช่น บางครอบครัวเคร่งครัดว่ามีพิธีหมั้นต้องจัดก่อนวันรับตัว เจ้าสาวต้องอาบน้ำใบทับทิมในคืนก่อนวันแต่งงานเพื่อชำระล้างสิ่งชั่วร้าย หรือแม้แต่รายละเอียดลำดับของพิธีการเช่นบางครอบครัวให้บ่าวสาวทานอาหารมงคล 10 อย่างร่วมกันหลังพิธียกน้ำชาในขณะที่บางครอบครัวให้ทานก่อนเริ่มพิธี ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างค่ะ ไม่ว่าจะเป็นธรรมเนียมในแต่ละท้องถิ่นของจีนมีรายละเอียดที่ต่างกัน ความต้องการและความสะดวกเช่น มีการประยุกต์เพื่อให้เข้ากับธรรมเนียมไทยเป็นต้น
เรียบเรียงข้อมูลโดยทีมงาน weddingtoknow.com